ค้นหา
ไทย
สินค้าตามประเภท
    เมนู ...ปิด
    กลับไปทั้งหมด

    ลักษณะรูปแบบของ เครื่องอ่านบาร์โค้ด

    ลักษณะรูปแบบของ เครื่องอ่านบาร์โค้ด

    เครื่องอ่านบาร์โค้ด (Barcode Scanner) เป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าที่นำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีคุณสมบัติในการอ่านบาร์โค้ดแล้วนำไปประมวลผล แปลงค่าเป็นข้อมูลตัวเลขเครื่องอ่านบาร์โค้ดถูกคิดค้นขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องของความรวดเร็วและแม่นยำในการทำงาน แทนการใช้แรงงานคนในการพิมพ์ข้อมูลเข้าสู่ระบบทีละตัวอักษร ทีละตัวเลข ซึ่งมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้อยู่เสมอ และมีความล่าช้าอย่างมาก

    ในการเลือกซื้อเครื่องอ่านบาร์โค้ด ผู้ใช้จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงรูปแบบของข้อมูลบาร์โค้ดที่เราจะนำเครื่องอ่านไปใช้งานด้วย เพื่อให้เครื่องอ่านบาร์โค้ดที่ซื้อมา สามารถอ่านค่าบาร์โค้ดในรูปแบบนั้นๆ ได้ โดยบาร์โค้ดจะมีอยู่ 2 แบบ คือ บาร์โค้ดแท่งในแบบ 1D (1 มิติ) และ บาร์โค้ดในแบบ 2D (2 มิติ)

    บาร์โค้ดในแบบ 1D (1 มิติ) จะมีลักษณะเป็นแท่งบาร์โค้ดในแนวนอนทั่วๆ ไปที่เราสามารถพบเห็นได้บนตัวสินค้าต่างๆที่มีการจำหน่ายอยู่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า เป็นสินค้าที่เราใช้สอยอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยบาร์โค้ดแบบ 1D จะมีชนิดย่อยอยู่หลายชนิดด้วยกัน มีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น EAN-13, Code 128, Code 39 และอื่นๆอีกมากมาย

    บาร์โค้ดในอีกรูปแบบคือบาร์โค้ดแบบ 2D (2 มิติ) ซึ่งถูกนำมาใช้ทดแทนข้อด้อยของบาร์โค้ดในแบบ 1D โดยบาร์โค้ดในแบบ 2D นั้นสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอนจึงสามารถเก็บข้อมูลได้ในปริมาณที่มากกว่าเพราะสามารถขยายออกไปได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน บาร์โค้ดแบบ 2 มิติ ยังไม่ได้มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายเมื่อเทียบกับบาร์โค้ดแท่ง 1D แต่ก็มีการนำบาร์โค้ดในรูปแบบนี้มาใช้งานกันมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้ใน Application ต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือ บาร์โค้ดที่อยู่ในลักษณะของรูปแบบนี้ เช่น QR Code, Data Matrix, PDF417 และอื่นๆอีกมากมาย ดังรูปตัวอย่างด้านล่าง

     

    นอกจากนี้เครื่องอ่านบาร์โค้ดยังสามารถแบ่งได้ตามชนิดของหัวอ่าน คือ CCD, Laser, Omnidirectional และ Imager โดยจะมีข้อแตกต่างในการใช้งาน ดังต่อไปนี้

    1. CCD Scanner เป็นเทคโนโลยีการอ่านบาร์โค้ดที่เก่ากว่ารูปแบบอื่นๆ มีข้อดีในการใช้งานกลางแจ้งบริเวณที่มีแสงสว่างมากๆ แต่ข้อเสียก็คือการยิงบาร์โค้ดด้วยเครื่องอ่านชนิดนี้จำเป็นต้องใช้กับบาร์โค้ดที่มีลักษณะพื้นผิวแบนเรียบเท่านั้น จำเป็นต้องยิงในระยะที่ไม่ห่างจากตัวบาร์โค้ดมากเกิน 1 นิ้ว และไม่สามารถอ่านบาร์โค้ดที่กว้างกว่าผิวหน้านำเข้าของตัวเครื่องได้

    2. Laser Scanner เป็นเครื่องอ่านบาร์โค้ดที่มีทั้งแบบพกพาติดตัวและการติดตั้งอยู่กับที่ มีข้อดีที่สามารถอ่านข้อมูลบาร์โค้ดในระยะที่ห่างจากตัวบาร์โค้ดได้พอสมควร การยิงจะใช้แสงเลเซอร์ยิงผ่านกระจกและไปตกกระทบที่ตัวบาร์โค้ดเพื่ออ่านข้อมูลจากแสงสะท้อนที่ย้อนกลับมาที่ตัวรับแสง ในการยิงจะเป็นการฉายแสงเลเซอร์ออกมาเป็นเส้นตรงเส้นเดียว มีขนาดเล็ก และความถี่เดียว แสงเลเซอร์จึงไม่กระจายออกไปนอกพื้นที่ที่ต้องการอ่านข้อมูลทำให้สามารถอ่านรหัสที่มีขนาดเล็กได้ดี นอกจากนี้ในหลายๆรุ่นยังสามารถตั้งให้ทำงานโดยอัตโนมัติได้เมื่อมีแถบบาร์โค้ดเคลื่อนผ่านหน้าหัวอ่าน โดยจะประยุกต์ใช้ร่วมกับขาตั้งเครื่องอ่านบาร์โค้ด

    3. Omnidirectional Scanner เป็นเครื่องอ่านแบบเลเซอร์ ลักษณะการทำงานเหมือนกัน แต่มีการฉายแสงเลเซอร์ออกมาหลายเส้นหลายทิศทาง มีลักษณะตัดกันไปมาเหมือนใยแมงมุม ซึ่งจะเหมาะกับการอ่านบาร์โค้ดบนสินค้าซึ่งไม่ได้มีการติดตั้งตำแหน่งของบาร์โค้ดในจุดเดียวกันเสมอๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน แต่จะมีราคาที่สูงกว่าเครื่อง Laser Scanner จึงมักนิยมใช้ในซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

    4. Imager Scanner เป็นเครื่องอ่านที่ใช้หลักการในการจับภาพของตัวบาร์โค้ด เช่นเดียวกันกับกล้องถ่ายรูป และใช้เทคนิคการประมวลผลภาพที่ทันสมัยในการถอดรหัสบาร์โค้ด สามารถอ่านบาร์โค้ดที่มีขนาดเล็กมากๆได้ และสามารถทำงานได้ในระยะห่างจากบาร์โค้ดมากยิ่งขึ้น แต่จะประมวลผลข้อมูลได้ช้ากว่าเครื่องอ่านแบบเลเซอร์อยู่เล็กน้อย

    เครื่องอ่านบาร์โค้ดยังสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของการเคลื่อนย้าย คือในบางรุ่นสามารถเคลื่อนย้าย เครื่องอ่านบาร์โค้ดได้แบบไร้สาย (Wireless Scanner) โดยมีการทำงานเหมือนโทรศัพท์ไร้สายภายในบ้าน, ในบางรุ่นเป็นเครื่องอ่านแบบมีสายที่ต้องประจำอยู่กับคอมพิวเตอร์แต่มีน้ำหนักเบาและสามารถขยับเคลื่อนย้ายเพื่อใช้งานได้ตามความต้องการเป็นเครื่องอ่านที่มีลักษณะเป็นรูปปืนที่มีปุ่มยิง และในบางรุ่นเป็นเครื่องอ่านชนิดตั้งโต๊ะติดอยู่กับที่ ในการทำงานไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้แต่จะทำการยิงโดยอัตโนมัติเมื่อมีบาร์โค้ดผ่านหัวอ่าน

     

    ความคิดเห็น
    แสดงความคิดเห็น ___ปิด
    *